โดย อาจารย์คงสัจจา สุวรรณเพ็ชร
อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายนิติศึกษา ประวัติศาสตร์ และสังคมวิทยา
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วันที่ 19 พฤศจิกายน ศกนี้ (พ.ศ. 2563) ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 3 ของเดือนที่ผ่านมา ถือเป็นวันสำคัญสากลซึ่งองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ United Nations Educational, Scientific, and Cultural Organisation (UNESCO) ได้กำหนดให้เป็น “วันปรัชญาโลก” นอกจากนี้เมื่อ 163 ปีล่วงมาแล้ว ในวันเดียวกัน พ.ศ.2400 (ค.ศ.1857) เป็นวันที่พระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) นำคณะทูตานุทูตเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ณ ‘The Garter Throne Room’ ปราสาทวินเซอร์ ภายหลังจากที่เซอร์ จอห์น เบาว์ริงได้เข้ามาทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีประเทศอังกฤษและประเทศสยาม หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “สนธิสัญญาเบาว์ริง”ใน พ.ศ.2398 (ค.ศ.1855)
สนธิสัญญาเมื่อครั้งกระโน้นอาจนับเป็นหมุดหมาย “เมื่อสยามพลิกผัน” ทำให้สยามเข้าสู่ตลาดการค้าโลกในยุคอาณานิคมอย่างเป็นทางการ เพื่อรักษาสถานะเอกราช รัฐสยามจะต้องปรับเข้าหาโลก นำมาสู่กระบวนการอัสดงคตาภิวัฒน์ (Westernisation) และกระบวนการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สมัยใหม่ (Modernisation) ได้พลิกโฉมค่อย ๆ ก่อรูปขึ้นเป็นสังคมไทยในวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย อาหาร วัฒนธรรม ความคิด วรรณกรรม การศึกษา รวมทั้งระบบกฎหมาย ล้วนมีกลิ่นอาย “ฝรั่ง” ทั้งสิ้น
ถึงกระนั้นเราก็ไม่เหมือน “ฝรั่ง” ในทุก ๆ ด้านที่กล่าวมา ในแง่ระบบกฎหมายสมัยใหม่ สยาม/ไทยได้หยิบยืมกฎหมายทั้งระบบและหลักการอันมีรากมาจากประเทศตะวันตก เมื่อปลูกถ่ายลงมา แม้จะมีรูปลักษณ์หน้าตาคล้ายคลึงกับของเดิม แต่หลายอย่างก็อาจเหมือนและต่างของเดิม อาทิ กระบวนการยุติธรรม รัฐธรรมนูญ สิทธิมนุษยชน เปรียบได้กับอาหารฝรั่งกุ๊กชอปของชาวไหหลำที่มีกลิ่นอายฝรั่งที่ไม่เป็นฝรั่ง
กระบวนการอัสดงคตาภิวัฒน์ (Westernisation) กับกระบวนการโลกาภิวัฒน์ (Globalisation) แม้จะแตกต่างในทางบริบทแต่มีจุดร่วมกัน คือ การหลอมรวมโลก สังคมต่าง ๆ ให้ใกล้กันภายใต้มาตรฐานความคิด อุดมการณ์เดียวกัน แต่ในความเป็นจริงยิ่งพยายามให้โลกเป็นหนึ่งเดียวกันมากเท่าใด กลับกลายเป็นว่าสังคมต่าง ๆ ก็ดูดกลืนและรับเอาจุดร่วม แล้วปรับแปรมาเป็นรูปแบบของตนเองให้แตกต่างออกไป สำหรับระบบกฎหมายสมัยใหม่ของไทยก็อาจจะอีหรอบเดียวกัน
ในห้วงเวลาที่สังคมไทยกำลังเผชิญความขัดแย้ง ความยุติธรรมถูกท้าทาย หลายคนตั้งคำถามทำนองรำพึงรำพันว่า
“เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร” คำกล่าวนี้ หลายคราวก็เป็นคำถามต่อ “ระบบกฎหมายสมัยใหม่” ของเราด้วย “นิติศาสตร์สมัยใหม่ที่เรายังไปไม่ถึง” หรือ “เป็นนิติศาสตร์สมัยใหม่ในแบบของเรา” น่าจะเป็นคำถามที่แตกหน่อไปสู่บทสนทนาหลายแขนงไม่รู้จบ คำตอบที่ได้อาจจะหลากหลายออกไป อาทิ กลับไปหาต้นแบบที่เป็นฝรั่ง ต้องเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายและสังคม ปัญหาอยู่ที่การบังคับใช้ ฯลฯ หรือจะเป็นคำตอบทำนองค่อนขอดว่าเป็นระบบแบบ “ไทย ๆ”การตรึกตรอง ครุ่นคิด วิพากษ์ ผ่านข้อความคิดทางปรัชญา ประวัติศาสตร์ และองค์ความรู้อื่น ๆ อาจทำให้เข้าใจปัญหาภาพรวมอย่างลุ่มลึกขึ้น คงไม่มีคำตอบใดดีกว่ากัน เพราะศาสตร์วิชาต่าง ๆ ให้คำตอบที่แตกต่างกันออกไปตามวิธีวิทยาของศาสตร์วิชานั้น ๆ แต่การนำเสนอ แลกเปลี่ยน และวิพากษ์อย่างเป็นเหตุเป็นผล สร้างสรรค์ (constructive) กระบวนการค้นหาคำตอบย่อมมีคุณค่าพอ ๆ กับการได้มาซึ่งคำตอบมิใช่หรือ?
วันปรัชญาโลกเกิดขึ้นเพื่อระลึกถึงพัฒนาการและคุณค่าความคิดของมนุษย์ในแต่ละสังคมที่ส่งต่อให้เราทุกคนในวันนี้ ความคิดความรู้ของเราทุกวันนี้ดำรงอยู่และต่อยอดไปได้ เพราะผู้มาก่อนเราที่มีปัญญาและกล้าหาญเสนอความคิดที่คนในยุคสมัยของเขาอาจไม่ยอมรับ เพื่อส่งต่อภูมิปัญญาเป็นรากฐานความเจริญของสังคมมนุษย์ เป็นคุณค่าสากลที่ไม่จำกัด เวลา สถานที่ วัฒนธรรม ให้ผู้คนได้นำมาขบคิด พัฒนาต่อ แก้ไขในสิ่งผิด ร่วมคิดร่วมสร้างสิ่งที่ดีขึ้น คนรุ่นหลังจึงมีทัศนะกว้างไกลขึ้นเพราะยืนบนไหล่ยักษ์ (By standing on the shoulders of Giants)
ศูนย์นิติศึกษา ประวัติศาสตร์ และสังคมวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอเชิญชวนทุกท่านมาศึกษาและร่วมสำรวจกฎหมายที่ตัวเองศึกษาด้วยวิธีวิทยาของศาสตร์วิชาอื่น เพื่อมองสะท้อนทุกแง่มุมของ “กฎหมาย” ด้วยแว่นส่องของศาสตร์ต่าง ๆ คำตอบ (หลากหลายคำตอบ) ที่ได้ ไม่เพียงช่วยตอบเรามาถึงจุดนี้อย่างไร แต่เราจะข้ามผ่านจุดนี้ไปได้อย่างไร
ก้าวข้ามคู่ตรงข้ามแบบผิด ๆ (False Dichotomy) ฝรั่ง/ไทย ๆ และส่งผ่านความคิดให้คนรุ่นต่อไปได้ขบคิด เพื่อเปลี่ยนและสรรสร้างสังคมที่ปลอดภัย มีเสรีภาพ ยุติธรรม สงบสุขอย่างยั่งยืนสำหรับท่านที่ต้องการติดตามข่าวสารและกิจกรรมทางวิชาการของศูนย์นิติศึกษา ประวัติศาสตร์ และสังคมวิทยา สามารถดูรายละเอียดได้ทางเว็บไซต์ http://www.law.tu.ac.th หรือ Facebook : คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ทีมงานศิษย์เก่าสัมพันธ์และระดมทุน
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เลขที่ 2 ถนนพระจันทร์ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
Tel: + 66 2222 9598 | Email: lawalumni@tu.ac.th
Website: www.law.tu.ac.th I Instagram: lawalumni
Website : http://www.law.tu.ac.th/
Facebook : https://www.facebook.com/Thammasatlaw/
Instagram : http://www.instagram.com/lawalumni
Youtube : https://www.youtube.com/watch?v=9oW_n3hytf4&feature=youtu.be