Read text as HTML

บทบาทของภาษีในการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน

ดร.ภัทรวัณย์ จงจิตต์

ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายภาษี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 หรือ The 2030 United Nations Sustainable Development Goals (SDGs) เป็นเป้าหมายสากลขององค์การสหประชาชาติในการขจัดปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อในการพัฒนาที่ยั่งยืนทางสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติรวมทั้งประเทศไทยมีพันธกิจที่ต้องปฏิบัติตามแผนแม่บทขององค์การสหประชาชาติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนายั่งยืน อย่างไรก็ตาม การทำให้การพัฒนาที่ยั่งยืนเกิดผลในทางปฏิบัติจริงนั้นประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา ยังประสบปัญหาและความท้าทายหลายประการส่งผลให้การดำเนินการตามแผนแม่บทเป็นไปอย่างล่าช้า ในการนี้ ในฐานะตัวแทนของศูนย์กฎหมายภาษี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ข้าพเจ้ามีความยินดีที่จะนำเสนออีกบทบาทหนึ่งของภาษีในการช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030

แนวคิดและความเป็นมาของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030

การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development มีที่มาจากแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่เสนอว่า ประเทศต่าง ๆ ควรมีแนวทางการพัฒนาที่ตอบสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่ลิดรอนความสามารถในการตอบสนองความต้องการของคนรุ่นหลัง การพัฒนาที่ยั่งยืนต้องประกอบไปด้วย การเติบโตทางเศรษฐกิจ (economic growth)  ความครอบคลุมทางสังคม (social inclusion) และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (environmental protection) แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ถูกนำมาใช้เป็นรูปธรรมครั้งแรกในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2012  ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (United Nations Conference on Sustainable Development – UNCSD หรือที่รู้จักกันว่า Earth Submit)  ณ กรุงรีโอเดจาเนโร สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล        ในประชุมดังกล่าวได้มีการรับรองปฏิญญา แผนปฏิบัติการ แถลงการณ์และอนุสัญญาต่าง ๆ ซึ่งรวมไปถึง แผนปฏิบัติการ 21 (Agenda 21) อันเป็นแผนแม่บทของโลกในการดำเนินงานเพื่อการพัฒนายั่งยืน ต่อมาในเดือนกันยายน ค.ศ. 2000 ประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติได้รับรองเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (the Millennium Declaration) ซึ่งมีเป้าหมายหลักในการลดปัญหาความยากจนภายในปี ค.ศ. 2015 ในปีค.ศ. 2015 ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 70 ได้รับรองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 (The 2030 Agenda for Sustainable Development) เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ นำไปปฏิบัติให้บรรลุผลสำเร็จในช่วงระยะเวลา 15 ปี หรือภายในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2030

หลักการสำคัญและความท้าทายของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030

การพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 (The 2030 Agenda for Sustainable Development) ประกอบไปด้วยเป้าหมาย 17 ประการ[1]รวมถึง การขจัดความยากจน (No Poverty)  ขจัดความหิวโหยและความอดอยาก (Zero Hunger) การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good Health and Well-being) การศึกษาที่มีคุณภาพ (Quality Education) ความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality) การจัดการน้ำและสุขาภิบาล (Clean Water and Sanitation) การเข้าถึงและการลงทุนในพลังงานสะอาด (Affordable and Clean Energy) การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Decent Work and Economic Growth) การลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Industry, Innovation and Infrastructure)  การลดความเหลื่อมล้ำทั้งภายในและระหว่างประเทศ (Reduces Inequalities)  การสร้างความสงบสุข ยุติธรรมและองค์กรที่เข้มแข็ง (Peace and Justice Strong Institutions) และ ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน รวมทั้งความร่วมมือระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา (Partnerships for the goals)  เป็นต้น ประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติมีพันธกิจที่ต้องดำเนินการเป้าหมายในการสร้างความยั่งยืนได้ 17 ข้อให้บรรลุผลสําเร็จ โดยส่งแผนงานและรายงานความคืบหน้าไปยังที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (General Assembly of the United Nations) เป็นประจำทุกปี อย่างไรก็ตาม การทำให้แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนเกิดผลเป็นรูปธรรมยังประสบปัญหาและความท้าทายหลายประการ ดังจะเห็นได้จากรายงานความก้าวหน้าของการไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2021 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความล่าช้าของความคืบหน้าของการดำเนินการตามแผนแม่บทขององค์การสหประชาชาติในกลุ่มประเทศเอเชีย-แปซิฟิก อันนำไปสู่ความกังวลเกี่ยวกับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี ค.ศ. 2030

บทบาทของกฎหมายภาษีในการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030

กฎหมายภาษีสามารถเป็นแรงขับเคลื่อนประเทศต่าง ๆ สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ตามที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า นโยบายและกฎหมายภาษีเป็นอำนาจอธิปไตยของรัฐ ภาษีมีบทบาทสำคัญในการสร้างรายได้เพื่อที่รัฐจะนำรายได้นี้ไปสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ระบบการศึกษา ระบบสาธารณสุข ความมั่นคงและปลอดภัยของประเทศ นอกจากบทบาทหลักดังกล่าวแล้ว ภาษียังเป็นปัจจัยหนึ่งที่สามารถส่งผลต่ออุปสงค์และอุปทาน ดังนั้น ประเทศต่าง ๆ จึงสามารถใช้นโยบายและมาตรการทางภาษีในการสนับสนุนหรือควบคุมกิจกรรมด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้ มาตรการทางภาษีจึงสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น การใช้นโยบายภาษีเพื่อลดความไม่เท่าเทียมทั้งภายในและระหว่างประเทศ การกำหนดนโยบายภาษีในการควบคุมทางการผังเมืองและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การกำหนดนโยบายภาษีเพื่อขจัดปัญหาความอดอยาก การใช้นโยบายภาษีเพื่อส่งเสริมคุณภาพและความเท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษา การกำหนดนโยบายภาษีที่ส่งเสริมสุขอนามัยและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน การกำหนดนโยบายภาษีเพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน การประกอบธุรกิจและการสร้างนวัตกรรมใหม่อย่างยั่งยืน การกำหนดนโยบายภาษีที่ส่งเสริมการอนุรักษ์หรือการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน การปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการระงับข้อพิพาทที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ รวมทั้ง การใช้มาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอื่น ๆ

พวกเราทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 บรรลุผล

ศูนย์กฎหมายภาษี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้สนับสนุนและดำเนินการตามภารกิจเพื่อผลักดันประเทศไทยสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีภารกิจในการเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษากฎหมายภาษีในหลักสูตรระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโท และระดับปริญญาเอก การวิจัยและผลิตผลงานวิชาการที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายภาษีในด้านต่าง ๆ เช่น ทฤษฎีและนโยบายการคลังและกฎหมายภาษีอากร การบัญชีภาษีอากร ภาษีเงินได้ ภาษีการบริโภค ภาษีทรัพย์สินและความมั่งคั่ง ภาษีอากรระหว่างประเทศ ภาษีที่เกี่ยวกับธุรกิจ ภาษีที่เกี่ยวกับการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ การระงับข้อพิพาททางภาษีอากรทั้งภายในและระหว่างประเทศ รวมทั้ง ความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายภาษีกับกฎหมายสาขาอื่น ๆ  นอกจากนี้ ศูนย์กฎหมายภาษีได้ดำเนินการให้บริการวิชาการแก่สังคม โดยการจัดงานสัมมนาทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจด้านกฎหมายภาษีอากรแก่บุคคลทั่วไป และการร่วมจัดหลักสูตรโครงการอบรมประกาศนียบัตรกฎหมายภาษีอากรระยะสั้นสำหรับผู้ที่ต้องการเพิ่มทักษะด้านภาษีอากรเพื่อใช้ในการปฏิบัติงาน ท่านสามารถติดตามข่าวสารของศูนย์กฎหมายภาษีได้ที่เว็บไซต์ https://www.law.tu.ac.th/ และเฟซบุ๊กเพจ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือติดต่อศูนย์กฎหมายภาษีทาง legalstudies.law.tu@gmail.com

 


 

[1] เป้าหมายในการสร้างความยั่งยืน 17 ประการได้แก่ เป้าหมายที่ 1 การขจัดความยากจน (No Poverty) เป้าหมายที่ 2 ขจัดความหิวโหยและความอดอยาก (Zero Hunger) เป้าหมายที่ 3 มีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good Health and Well-being) เป้าหมายที่ 4 การศึกษาที่มีคุณภาพ (Quality Education) เป้าหมายที่ 5 ความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality) เป้าหมายที่ 6 การจัดการน้ำและสุขาภิบาล (Clean Water and Sanitation) เป้าหมายที่ 7 การเข้าถึงและการลงทุนในพลังงานสะอาด (Affordable and Clean Energy) เป้าหมายที่ 8 การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Decent Work and Economic Growth) เป้าหมายที่ 9 การลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Industry, Innovation and Infrastructure) เป้าหมายที่ 10 ลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งภายในและระหว่างประเทศ (Reduces Inequalities) เป้าหมายที่ 11 การจัดการด้านเมืองและถิ่นฐานมนุษย์ (Sustainable Cities and Communities) เป้าหมายที่ 12 แผนการบริโภคและการพัฒนาที่ยั่งยืน (Responsible Consumption and Production) เป้าหมายที่ 13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Action) เป้าหมายที่ 14 การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล (Life below water)  เป้าหมายที่ 15 การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก (Life on Land) เป้าหมายที่ 16 การสร้างความสงบสุข ยุติธรรมและองค์กรที่เข้มแข็ง (Peace and Justice Strong Institutions) และ เป้าหมายที่ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน รวมทั้งความร่วมมือระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา (Partnerships for the goals) (Source: United Nations, https://sdgs.un.org/goals)

 

     ทีมงานศิษย์เก่าสัมพันธ์และระดมทุน

     คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

     เลขที่ 2 ถนนพระจันทร์ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200

     Tel: + 66 2222 9598 | Email: lawalumni@tu.ac.th

     Website: https://alumni.law.tu.ac.th/ I Instagram: lawalumni

 

     Website : https://alumni.law.tu.ac.th/

     Facebook : https://shorturl.at/zJNPU

     Instagram : http://www.instagram.com/lawalumni

     Youtube : https://www.youtube.com/watch?v=9oW_n3hytf4&feature=youtu.be