Read text as HTML

กฎหมายไทยปราบกระบวนการค้ามนุษย์ได้อย่างไร ?

โดย ศาสตราจารย์ณรงค์ ใจหาญ

 

     เนื่องในวันที่ 30 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันต่อต้านการค้ามนุษย์สากล (World Day Against Trafficking in Persons) และตระหนักถึงความสำคัญปัญหาการค้ามนุษย์ในไทย ทีมงานศิษย์เก่าสัมพันธ์ฯ ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ณรงค์ ใจหาญ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอสารบัญญัติและวิธีพิจารณาคดีที่ได้รับการพัฒนาและกลไกทางกฎหมายที่ใช้ปราบปรามผู้ค้ามนุษย์และการเยียวยาผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ถึงแม้ว่าจากรายงานการประเมินของสหรัฐอเมริกาในปี 2021 จะประเมินให้ประเทศไทยอยู่ในระดับ Tier 2 เฝ้าระวัง ก็ตาม[1]

     หลักการสากลซึ่งใช้ต่อต้านกระบวนการค้ามนุษย์และช่วยเหลือผู้เสียหายนั้น แบ่งออกได้ 3 ประการ คือ ป้องกัน ปราบปราม และปกป้อง[2] หมายความว่า ป้องกันมิให้เกิดการกระทำความผิด ปราบปรามผู้กระทำความผิดอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ และปกป้องผู้เสียหายในคดีค้ามนุษย์ให้มีความปลอดภัย ได้รับการเยียวยาความเสียหายและกลับสู่ภูมิลำเนาเดิมได้ หลักการทั้งสามนี้ประเทศไทยได้ดำเนินการครบถ้วนทั้ง 3 ประการ
โดยพัฒนาทั้งกลไกด้านกฎหมายและการประสานงานระหว่างประเทศ ภายในภูมิภาคอาเซียนและภายในประเทศ โดยประสานความร่วมมือในเชิงบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

     เนื่องจากมีพื้นที่จำกัด จึงขอกล่าวเฉพาะการปราบปรามกระบวนการค้ามนุษย์ โดยนำเสนอพัฒนาการของกฎหมายไทย คือ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 กำหนดความผิดฐานค้ามนุษย์ไว้ ใน มาตรา 6 โดยกำหนดองค์ประกอบความผิดฐานค้ามนุษย์ ว่าเป็นการกระทำในการเป็นธุระ จัดหา รับตัวไว้ ซึ่งบุคคลโดยไม่สมัครใจ เช่น ขู่เข็ญ บังคับ หรือโดยหลอกลวงบุคคลอื่น แต่ถ้ากระทำต่อบุคคลอายุไม่ถึงสิบแปดปี จะจัดหาหรือพามาโดยสมัครใจหรือไม่สมัครใจก็ได้ ทั้งนี้ เพื่อจะแสวงหาประโยชน์จากบุคคลดังกล่าวทางเพศ บังคับใช้แรงงาน จับคนลงเป็นทาสหรือคล้ายทาส การบังคับให้เป็นขอทานหรือตัดอวัยวะ ซึ่งกำหนดโทษไว้รุนแรงทั้งโทษจำคุกและปรับ[3] และหากเป็นการกระทำโดยองค์กรอาชญากรรม หรือเจ้าพนักงานหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีโทษสูงขึ้น[4]

     นอกจากนี้ ความผิดฐานค้ามนุษย์ยังเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายฟอกเงินซี่งเจ้าพนักงานตามกฎหมายฟอกเงินสามารถใช้มาตรการในกฎหมายฟอกเงินที่จะริบทรัพย์ทางแพ่งแก่ผู้กระทำความผิดได้[5] ซึ่งถือเป็นมาตรการที่ทำให้ผู้ค้ามนุษย์ไม่สามารถนำเงินหรือทรัพย์สินที่ได้จากการค้ามนุษย์ไปทำประโยชน์ได้ จึงถือว่าเป็นมาตรการที่ติดตามทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดที่มีประสิทธิภาพระดับหนึ่ง

     ส่วนการดำเนินคดีต่อผู้ค้ามนุษย์นั้น กฎหมายไทยได้กำหนดวิธีพิจารณาความคดีค้ามนุษย์ไว้เป็นพิเศษเพื่อให้การดำเนินคดีมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ. 2559  โดยให้พนักงานอัยการขอค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เสียหายมาพร้อมกับคำฟ้องคดีอาญา[6] และศาลดำเนินการค้นหาความจริงของศาลระบบไต่สวน[7] ซึ่งเท่ากับให้ศาลมีบทบาทเชิงรุกในการค้นหาความจริง และสามารถดำเนินคดีลับหลังจำเลยได้หากจำเลยหลบหนี[8] นอกจากนี้ การดำเนินคดีก็จะได้รับการทบทวนโดยศาลสูงที่ดำเนินการในชั้นอุทธรณ์และต้องขออนุญาตฎีกาในชั้นฎีกาเพื่อให้คดียุติอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ[9]  แต่ยังรักษาหลักประกันสิทธิของจำเลยได้ตามมาตรฐานสากล  นอกจากนี้ ยังมีการจัดเก็บข้อมูลการดำเนินคดีการพิจารณาพิพากษาที่เกี่ยวกับคดีค้ามนุษย์อย่างเป็นระบบและสามารถสืบค้นสถิติและการดำเนินคดีได้ในแต่ละปี โดยข้อมูลดังกล่าวมีการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถประสานงานในการป้องกันและปราบปรามได้ และสกัดไม่ให้กระบวนการค้ามนุษย์เข้ามาในราชอาณาจักรไทย เพราะข้อมูลดังกล่าวสามารถที่จะเชื่อมโยงไปยังด่านตรวจคนเข้าเมืองได้

    จะเห็นได้ว่า กฎหมายไทยมีกลไกในการปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ที่สอดคล้องกับสากล ส่วนข้อที่ประเทศไทยได้รับการประเมินในระดับ Tier 2 เฝ้าระวังในปีนี้ หน่วยงานที่ประเมินให้เหตุผลว่าในด้านการบังคับใช้กฎหมายไม่จริงจัง มีการจับผู้กระทำความผิดและการลงโทษจำเลยลดลง การประสานงานกับองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรในการร่วมกันปราบปรามน้อยลง และเจ้าหน้าที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในกฎหมายในการช่วยเหลือผู้เสียหาย หรือการดำเนินคดี[10]  อย่างไรก็ดี ถ้าพิจารณาสถิติในรายงานการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในปี 2563 แล้ว กลับมีข้อเท็จจริงที่ตรงกันข้ามกล่าวคือ มีสถิติในการดำเนินคดี การฟ้องคดีและการลงโทษเพิ่มขึ้น อีกทั้งมีความร่วมมือจากหน่วยงานขององค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรทั้งในและนอกประเทศประเทศอย่างจริงจังและเป็นระบบ[11]

     อย่างไรก็ดี การพัฒนาการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยเน้นให้บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการดำเนินคดีค้ามนุษย์ตั้งแต่การสอบสวนและพิจารณาคดี การฝึกอบรมผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องและพัฒนาคู่มือในการดำเนินคดี การรวบรวมพยานหลักฐานและการประสานงานที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน[12]การป้องกันมิให้เจ้าพนักงานทุจริตต่อหน้าที่น่าจะเป็นแนวทางในการพัฒนากลไกที่ทำให้สามารถปราบปรามกระบวนการค้ามนุษย์ในประเทศไทยลดน้อยลงไปได้

 

 

[1] Trafficking in Person Report 2021 https://www.state.gov/wp-content/uploads/2021/07/TIP_Report_Final_20210701.pdf, pp. 543-556, access on  6/07/21

[2] UNODC, Toolkit to Combat Trafficking in Persons  GLOBAL PROGRAMME AGAINST TRAFFICKING IN HUMAN BEINGShttps://www.unodc.org/documents/human-trafficking/HT-toolkit-en.pdf, access on  6/7/21

[3] โปรดดูพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 52 มาตรา 53 และมาตรา 53/1

[4] โปรดดูพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 10 และมาตรา 13

[5] โปรดดูพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3 (2)

[6] โปรดดูพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ. 2559 มาตรา 13

[7] โปรดดูพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง

[8] โปรดดูพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ. 2559 มาตรา 33

[9] โปรดดูพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 41 และมาตรา 45

[10] TIP report 2021, supra note 1.

[11] โปรดดู กองต่อต้านการค้ามนุษย์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  สรุปรายงานผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ประจำปี 2563 https://www.e-aht.com/startup/gotoInformationActivityDetail?informationID=298, access on  6/07/21

[12] โปรดดู สำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ณรงค์ ใจหาญ และคณะผู้วิจัย) . รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เสนอต่อ กองต่อต้านการค้ามนุษย์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พ.ศ. 2562 . บทสรุปผู้บริหาร


 

 

     ทีมงานศิษย์เก่าสัมพันธ์และระดมทุน

     คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

     เลขที่ 2 ถนนพระจันทร์ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200

     Tel: + 66 2222 9598 | Email: lawalumni@tu.ac.th

     Website: https://alumni.law.tu.ac.th/ I Instagram: lawalumni

 

     Website : https://alumni.law.tu.ac.th/

     Facebook : https://shorturl.at/zJNPU

     Instagram : http://www.instagram.com/lawalumni

     Youtube : https://www.youtube.com/watch?v=9oW_n3hytf4&feature=youtu.be