Read text as HTML

คู่ชีวิต: เท่าเทียมแต่ไม่เท่ากัน?

โดย อาจารย์อัครวัฒน์ เลาวัณย์ศิริ

 

ในเดือนมิถุนายนนี้ เชื่อว่าหลายท่านคงได้เห็นสื่อออนไลน์พากันปรับเปลี่ยนโลโก้เป็นธงสีรุ้งสีสันสดใส หลากหลายแบรนด์สินค้าทำแคมเปญร่วมสนับสนุน LGBTI รวมถึงได้เห็นผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ออกมาแลกเปลี่ยนความเห็นและสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ ทั้งหมดนี้สืบเนื่องมาจากเป็นช่วงเวลาสำคัญอย่าง “Pride Month” นั่นเอง แม้ปัจจุบันสังคมไทยได้เริ่มเปิดกว้างและยอมรับความหลายหลายทางเพศมากยิ่งขึ้นจากอดีต แต่อีกด้านหนึ่งกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศยังไม่ได้รับการรับรองและคุ้มครองในเรื่องสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายที่พึงมีอยู่ เพื่อไม่ให้ประเด็นนี้ห่างหายไปจากการพูดถึง ทีมงานศิษย์เก่าสัมพันธ์ฯ ได้เชิญ อาจารย์อัครวัฒน์ เลาวัณย์ศิริ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ผลักดันกฎหมายการก่อตั้งครอบครัวของบุคคลเพศเดียวกันและอยู่เบื้องหลังในการยกร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต มาพูดคุยในประเด็นหนทางการเกิดพระราชบัญญัติคู่ชีวิต และบทบาทของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในการสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ

ความสำคัญของการจดทะเบียนคู่ชีวิต

พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิตจะมีอยู่ 2 บริบทหลัก ๆ ที่ก่อให้เกิดสถานภาพและสิทธิหน้าที่ที่พึงได้ คือ (1) ความสัมพันธ์ในครอบครัวซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสถานะครอบครัวอันก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ในทางกฎหมายเช่นเดียวกันกับสามีภริยา ทำให้เกิดสิทธิและหน้าที่ต่าง ๆ ระหว่างกันภายในครอบครัว เช่น สิทธิและหน้าที่ระหว่างคู่ชีวิต สิทธิหน้าที่ระหว่างคู่ชีวิตกับบุตร และสิทธิหน้าที่อันเกิดมาจากความสัมพันธ์ในทรัพย์สิน เป็นต้น (2) ความสัมพันธ์นอกบริบทครอบครัวเป็นเรื่องสืบเนื่องมาจากการก่อตั้งครอบครัวในฐานะที่เป็นคู่ชีวิต ซึ่งก็จะเป็นเรื่องต่าง ๆ มากมายในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการจับจ่ายใช้สอย การทำนิติกรรมสัญญา เช่น การทำสัญญาจ้างแรงงาน การทำสัญญาประกันชีวิต รวมถึงการกระทำที่เป็นนิติเหตุในทางกฎหมาย

บอกเล่าประสบการณ์ในการร่วมร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต รวมถึงปัญหาและอุปสรรคในการร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว

ขณะนั้นกระทรวงยุติธรรมได้มีการดำเนินการยกร่างกฎหมายเพื่อรับรองและคุ้มครองสิทธิของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เรียกว่า “ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต” เดิมทีในตอนแรกผมได้เข้าไปช่วยให้คำปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการเท่านั้น แต่เมื่อให้คำปรึกษาไปเรื่อย ๆ ก็พบว่าตัวร่างฯ มีประเด็นปัญหาในทางเทคนิคค่อนข้างเยอะ จึงมีโอกาสได้ทำวิจัยเรื่องพ.ร.บ.คู่ชีวิตโดยเฉพาะซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการทำวิจัยจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme – UNDP) และได้ยกร่างพ.ร.บ.ขึ้นมาฉบับนึงภายในเวลาเพียง 6 เดือน หลังจากนั้นมีการได้ปรับปรุงแก้ไขและวิเคราะห์ร่างฯ ที่ผมได้นำเสนอไปตอนต้นโดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงยุติธรรม เจ้าหน้าที่รัฐ หน่วยงานต่าง ๆ และภาคประชาสังคมกลั่นกรองออกมาเป็น “ร่างฯ อัมพวา” ซึ่งได้นำโมเดลของต่างประเทศเฉพาะสิ่งที่ให้ประโยชน์แก่กลุ่มความหลากหลายทางเพศมากที่สุดมาปรับเพิ่มเติมเนื้อหาลงในร่างฯ อัมพวา จากนั้นร่างฯ ถูกส่งต่อสู่กระบวนการกลั่นกรองผ่านคณะกรรมการชุดต่าง ๆ โดยถูกตัดทอนและเพิ่มเติมเนื้อหาอยู่หลายครั้ง จนกระทั่งร่างฯ ได้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งได้เพิ่มเติมเนื้อหาของร่างฯ ให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เป็นบทเบ็ดเสร็จ 70 มาตรา ทั้งนี้ ขณะนี้ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตอยู่ในรัฐสภา จริง ๆ เรามีส่วนร่วมในช่วงแรก หลังจากนั้นก็อยู่ในมือคนอื่นละ ของเราโดนตัดออกเยอะเหมือนกันนะ (หัวเราะ) แต่ก็ดีใจที่ได้มีส่วนร่วม

สำหรับปัญหาการร่างพ.ร.บ.นั้น เนื่องจากการบัญญัติกฎหมายไม่สามารถมองในมิติทางกฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมองในมิติทางสังคมประกอบกันด้วย เพราะฉะนั้น เราจำเป็นต้องคำถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริงในสังคม รวมถึงผลกระทบทุกด้านต่อประชาชนจากการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ ด้วยเหตุนี้เองจึงเกิดประเด็นที่มีการถกเถียงในการวางระบบกฎเกณฑ์เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ครอบครัวของบุคคลเพศเดียวกันให้เข้าไปใกล้เคียงกับความสัมพันธ์ครอบครัวชายหญิงขนาดไหนเพียงใด จึงจะสอดคล้องบรรลุผลเกิดความเท่าเทียมและเกิดประโยชน์สูงสุดกับคนที่เกี่ยวข้องจริง ๆ

ระหว่าง “การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 1448” กับ “พระราชบัญญัติคู่ชีวิต ซึ่งจะออกมาเป็นกฎหมายใหม่ให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศโดยเฉพาะ” อาจารย์เห็นว่าสังคมไทยเหมาะสมกับระบบไหน

สำหรับ “การแก้ไขเพิ่มเติมป.พ.พ. มาตรา 1448” นั้น จะเห็นได้ว่าสามารถดำเนินการจัดสรรความเท่าเทียมให้กับบุคคลทุกเพศรวดเร็วกว่าการออกพ.ร.บ.คู่ชีวิต แต่มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ถึงแม้มีการแก้ไขถ้อยคำลายลักษณ์อักษรในตัวบทป.พ.พ.แล้วก็จริง แต่ในส่วนการตีความกฎหมายหรือนิติวิธียังคงต้องอาศัยใช้เวลาเพื่อศึกษาและเรียนรู้ถึงวิธีการตีความของศาล รวมถึงการขยายความทางกฎหมายโดยนักวิชาการทางกฎหมาย เพื่อสร้างแนวคำพิพากษาหรือบรรทัดฐานในการบังคับใช้กฎหมายต่อไป  กรณีการออก “พ.ร.บ.คู่ชีวิต” ผมมองว่าเราสามารถออกกฎหมายใหม่ให้แก่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นการเฉพาะได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าบทบัญญัติที่เราร่างขึ้นมานั้นเป็นแบบไหน เช่น การมีบทบัญญัติให้ความคุ้มครองสิทธิแก่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศครอบคลุมและเหมาะสมกับกลุ่ม LGBTI และไม่ทับซ้อนกับป.พ.พ. หรือออกกฎหมายเฉพาะเป็นพ.ร.บ. แต่ยังคงหลักการเดียวกับป.พ.พ. เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาเมื่อเราดูขั้นตอนทั้งหมดประกอบกับอุปสรรคที่เราได้เจอต้องยอมรับว่ามันยากเหลือเกิน ผมมองว่าสังคมไทยเหมาะสมกับโมเดลทั้ง 2 แบบ และคิดว่าเราสามารถทำให้โมเดลทั้งสองดีได้ทั้งคู่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอยากโมเดลใดโมเดลหนึ่งเกิดขึ้นและสามารถใช้บังคับได้จริง ๆ ในสังคมไทยก่อน พอออกมาแล้วก็ค่อย ๆ ปรับให้มันดียิ่งขึ้นไป และสิ่งที่กังวลมากกว่าการแก้ไขเพิ่มเติมป.พ.พ. หรือออกพ.ร.บ.คู่ชีวิต และควรสร้างรากฐานให้มั่นคงตั้งแต่แรก ก็คือการออกพ.ร.บ.พิเศษที่ทำให้สถานะครอบครัวของคู่ชีวิตเท่าเทียมสถานะครอบครัวของคู่สมรสเพื่อความเท่าเทียมของบุคคลที่จะไม่ได้รับการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุความแตกต่างทางเพศ รวมถึงการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายฉบับอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องยึดโยงกับสถานะความสัมพันธ์ครอบครัวของคู่ชีวิตให้สอดคล้องกับกฎหมายของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ

ความคาดหวังต่อบทบาทของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการส่งเสริมความหลากหลายทางเพศ

ในบทบาทของคณะที่เกี่ยวข้องกับคนในองค์กร ปัจจุบันคณะของเรามี “คณะกรรมการตรวจสอบและส่งเสริมความเสมอภาค” ซึ่งได้ทำหน้าที่ส่งเสริมและตรวจสอบการไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศด้วย ซึ่งเป็นก้าวใหม่ที่น่าสนใจ และน่าจะเป็นโมเดลสำหรับที่อื่นได้ด้วย ในภาพรวมผมเชื่อว่าคณะของเรายังคงรักษามาตรฐานได้ดีและให้ความสำคัญกับประเด็นส่งเสริมความหลากหลายในทุกแง่มุมเสมอ

บทบาทของคณะส่วนที่เกี่ยวข้องกับบุคคลภายนอก เห็นได้ว่าคณาจารย์ของเรายังคงเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการแก่สังคมอยู่อย่างสม่ำเสมอ สำหรับตัวผมเองถ้าถามว่าคาดหวังอะไรกับคณะนิติศาสตร์ก็คงต้องถามกลับว่าตัวเองจะทำอะไรมากกว่า เพราะเราก็เป็นส่วนหนึ่งของที่นี่ แต่ก็อืม ยังรู้สึกว่าทำไม่มากพอ แต่ถ้าคาดหวังจากคนอื่นในคณะนิติ ก็คงอยากให้มีการผลิตสื่อรูปแบบใหม่ๆ ที่ให้ความรู้แก่ประชาชนในรูปแบบที่เข้าใจง่ายและเข้าถึงง่ายมากยิ่งขึ้น เช่น รูปแบบคลิปวิดีโอหรือหนังสั้นสร้างความบันเทิงแฝงความรู้และหลักคิดดี ๆ คือกฎหมายบางเรื่องมันเทคนิคเยอะ อย่างเรื่องเพศวิถีที่เราจับก็มีเทคนิคของมัน ถ้าเราทำให้มันง่าย คนก็เข้าใจง่าย เป็นประโยชน์ คิดว่าหนังสั้นน่าทำนะ ก็เอาพวกอาจารย์ เจ้าหน้าที่ หรือศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบันเนี่ยแหละ มาแสดงกันเอง (หัวเราะ)

ในปีนี้ทีมงานศิษย์เก่าสัมพันธ์ฯ ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมเฉลิมฉลอง Pride Month และขอยึดมั่นในคุณค่าของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาคเท่าเทียมและการอยู่ร่วมกันด้วยความเคารพให้เกียรติในสังคมพหุวัฒนธรรม

 

 


 

     ทีมงานศิษย์เก่าสัมพันธ์และระดมทุน

     คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

     เลขที่ 2 ถนนพระจันทร์ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200

     Tel: + 66 2222 9598 | Email: lawalumni@tu.ac.th

     Website: https://alumni.law.tu.ac.th/ I Instagram: lawalumni

 

     Website : https://alumni.law.tu.ac.th/

     Facebook : https://shorturl.at/zJNPU

     Instagram : http://www.instagram.com/lawalumni

     Youtube : https://www.youtube.com/watch?v=9oW_n3hytf4&feature=youtu.be