Read text as HTML

ความเสียหายจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กับการประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก  (ตอนที่1)

โดย รองศาสตราจารย์สุดา วิศรุตพิชญ์

อีเมลรายเดือนฉบับนี้ ทีมงานศิษย์เก่าสัมพันธ์ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์สุดา วิศรุตพิชญ์ อดีตอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันเป็นอาจารย์พิเศษของคณะนิติศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายธุรกิจ มาแบ่งปันความรู้และชวนวิเคราะห์ประเด็นการทำประกันภัยทางธุรกิจที่มีชื่อเรียกว่า “การประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก” ในสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิด-19) โดยนำเสนอเป็น2 ตอน ตอนที่ 1 ข้อมูลการขยายตัวของการประกันภัยโควิด-19 และปัญหาที่ธุรกิจประกันภัยทั่วโลกกับกำลังเผชิญเนื่องมาจากการแพร่รระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และตอนที่ 2 ศาสตราจารย์พิเศษสุดา วิศรุตพิชญ์จะพาทุกท่านร่วมวิเคราะห์คำพิพากษาศาลในประเด็นปัญหาความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักกับกรณีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อสร้างความเข้าใจและพัฒนาแนวทางประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักในประเทศไทยต่อไป

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ส่งผลกระทบกับทุกคนและทุกภาคส่วนทั่วโลก ทั้งต่อการใช้ชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคลและต่อการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจ แม้ภาครัฐของแต่ละประเทศจะมีมาตรการให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ แต่มาตรการเหล่านั้นก็ดูจะไม่เพียงพอที่จะเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น สำหรับผู้ที่ได้ทำประกันภัยคุ้มครองความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจจะได้รับไว้ ก็พยายามพิจารณาว่า กรมธรรม์ประกันภัยที่ตนได้ทำไว้นั้นคุ้มครองความเสียหายจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือไม่ หากสามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยได้ ก็จะได้มีเงินช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนในการใช้ชีวิตประจำวันหรือประคับประคองธุรกิจไปได้อีกระยะหนึ่ง

ธุรกิจประกันภัยทั่วโลกก็เผชิญกับปัญหาการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จากข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่หลายสำนัก เสนอข่าวว่าธุรกิจประกันภัยทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจำนวนมหาศาล ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2020  เช่น “..บีบีซีรายงานว่า “ลอยด์ ออฟ ลอนดอน” (Lloyd’s of London) บริษัทรับประกันภัยต่อระดับโลกของอังกฤษ ซึ่งมีสมาชิกกว่า 90 รายเปิดเผยว่า การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในกรณีที่เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ช่วง 6 เดือนแรกของบริษัท มีมูลค่าสูงถึง 2,400 ล้านปอนด์ ส่งผลให้ช่วงครึ่งปีแรก ลอยด์ขาดทุนถึง 400 ล้านปอนด์ จากครึ่งแรกของปี 2019 มีกำไร 2,300 ล้านปอนด์ และคาดว่าการเรียกร้องค่าสินไหมเกี่ยวกับโควิด-19 ต่อบริษัท ในปีนี้อาจพุ่งสูงแตะ 5,000 ล้านปอนด์...” และยังเสนอการคาดการณ์ว่า “...ลอยด์ประมาณการไว้ในช่วงต้นปี 2020 ว่า มูลค่าการเรียกร้องกับบริษัทประกันภัยทั่วโลกจากโควิด-19 อาจสูงกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกรณีการยกเลิกจัดกิจกรรม ยกเลิกแผนการเดินทาง รวมถึงการหยุดชะงักทางการค้าและการดำเนินธุรกิจเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด และมีธุรกิจจำนวนมากที่พยายามเรียกร้องค่าสินไหมจากบริษัทประกันภัย แต่กรมธรรม์ประกันภัยที่ทำไว้ไม่ครอบคลุมกรณีต้องหยุดการดำเนินธุรกิจอันเป็นผลจากแพร่ระบาดของไวรัสโดยตรง ทำให้เกิดฟ้องร้องระหว่างธุรกิจและบริษัทประกันภัยหลายคดี...” [1]

สำหรับประเทศไทย มีข้อมูลเกี่ยวกับการขยายตัวของการประกันภัยโควิด-19 และการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนก็ขยายตัว เช่น ข่าวพาดหัวของประชาชาติธุรกิจ “... ไตรมาสแรกปี’64 ประชาชนแห่ซื้อกรมธรรม์ประกันภัยโควิดเพิ่มขึ้น 1.29 ล้านฉบับ เฉพาะเดือนม.ค. ขยายตัว 6% ดันจำนวนกรมธรรม์รวม 10.66 ล้านฉบับ เบี้ยรับ Q1 เพิ่มขึ้น 815 ล้านบาท ดันเบี้ยรับแตะ 4.95 พันล้านบาท โควิดระลอก 2 ในประเทศ ฉุดเคลม Q1 พุ่ง 93.18 ล้านบาท ดันเคลมทั้งระบบ 170 ล้านบาท...” [2] และ “...สมาคมวินาศภัย คาดผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มต่อเนื่อง ชี้ หากยอดสะสมเกินแสนราย ดันยอดเคลมประกันแตะพันล้าน จากปัจจุบัน 200 ล้าน ขณะยอดขายประกันโตเฉลี่ยวันละ 1 แสนกรมธรรม์ พร้อมเจรจาสมาคมโรงพยาบาลปรับลดค่ารักษาพยาบาลในฮอทพิเทล...”[3]  แต่ยังไม่พบข้อมูลการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่ธุรกิจต้องหยุดชะงักอันเป็นผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิด-19)  โดยตรง[4] อาจเป็นเพราะจำนวนผู้ประกอบธุรกิจในประเทศไทยที่มีการทำประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักไว้มีไม่มากนัก ประกอบกับความคุ้มครองในกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก (แม้จะได้มีการจัดทำไว้) ก็เป็นเพียงการทำประกันภัยในกรณีธุรกิจหยุดชะงักอันเป็นผลกระทบจากความเสียหายทางกายภาพที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สินตามกรมธรรม์ประกันภัยหลัก (ได้แก่ กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย กับ กรมธรรม์ประกันความเสี่ยงภัยทุกชนิด) โดยไม่มีการขยายความคุ้มครองในกรณีความเสียหายต่อธุรกิจเนื่องจาก ไวรัสโคโรนา ซึ่งมิได้มีความเสียหายทางกายภาพเกิดแก่ทรัพย์สินที่ได้เอาประกันภัยไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยหลัก ก็เป็นได้ [5]

ตอนที่ 2 ของบทความนี้ ขอนำเสนอตัวอย่างประเด็นที่มีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักในสหราชอาณาจักร ซึ่งมีการฟ้องร้องเป็นคดี จนคดีถึงที่สุดในศาลสูงสุด (Supreme Court) ของสหราชอาณาจักร  เพื่อให้เกิดความเข้าใจและเป็นแนวทางในการพัฒนาข้อความ (ข้อสัญญา) ในกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักในประเทศไทย ให้สอดคล้องกับแนวทางการตีความดังกล่าว เพื่อประโยชน์ของบริษัทประกันภัยในประเทศไทยในการพิจารณาความคุ้มครองและการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยของตนและการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนที่ตนได้ชดใช้ให้ผู้เอาประกันภัยไปแล้วจากบริษัทรับประกันภัยต่อที่ตนได้ทำประกันภัยต่อไว้ที่ต่างประเทศ ขอเชิญติดตามบทวิเคราะห์ประเด็นปัญหาความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักกับกรณีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านคำพิพากษาของศาลต่างประเทศได้ในอีเมลฉบับถัดไป

 

 

 


 

[1] https://www.prachachat.net/world-news/news-523878 ลงวันที่ 19 กันยายน 2563 สืบค้นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2564

[2] https://www.prachachat.net/breaking-news/news-646311 ลงวันที่ 10 เมษายน 2564 สืบค้นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2564

[3] https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/935330 ลงวันที่ 30 เมษายน 2564 สืบค้นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2564

[4] จากการสอบถามอย่างไม่เป็นทางการจากเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย.(คปภ.) ยังไม่มีข้อมูลเรื่องการเรียกค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก (ณ ต้นเดือน พฤษภาคม 2564)

[5] การประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก โดยพื้นฐานเป็นการประกันภัยที่จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนเพื่อชดเชยรายได้ก่อนเกิดความเสียหาย เพื่อเป็นประกันว่ากำไรขั้นต้นจะไม่ได้รับผลกระทบจากกรณีที่ทรัพย์สินที่ได้เอาประกันภัยไว้ในกรมธรรม์ประกันวินาศภัยหลักประสบวินาศภัยและทำให้การประกอบธุรกิจต้องหยุดชะงักระหว่างการซ่อมแซมทรัพย์สินหรือระหว่างหาของแทนทรัพย์สินนั้น

 

     ทีมงานศิษย์เก่าสัมพันธ์และระดมทุน

     คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

     เลขที่ 2 ถนนพระจันทร์ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200

     Tel: + 66 2222 9598 | Email: lawalumni@tu.ac.th

     Website: https://alumni.law.tu.ac.th/ I Instagram: lawalumni

 

     Website : https://alumni.law.tu.ac.th/

     Facebook : https://shorturl.at/zJNPU

     Instagram : http://www.instagram.com/lawalumni

     Youtube : https://www.youtube.com/watch?v=9oW_n3hytf4&feature=youtu.be