ความท้าทายของทรัพย์สินทางปัญญาในปี พ.ศ. 2565

ทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property)ถือเป็นทรัพย์สินชนิดหนึ่งที่เกิดจากผลงานอันเกิดจากการประดิษฐ์ คิดค้น หรือสร้างสรรค์ทางปัญญาของมนุษย์ และทุก ๆ ปีในวันที่ 26 เมษายน องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ได้กำหนดให้วันดังกล่าวเป็น วันทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Day” เพื่อสร้างความตระหนักและส่งเสริมความรู้ความเข้าใจต่อสาธารณชนในเรื่องที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา

ในโอกาสวันทรัพย์สินทางปัญญาโลก ทีมงานศิษย์เก่าสัมพันธ์ฯ ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ภูมินทร์ บุตรอินทร์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา มาสรุป 5 ประเด็นความท้าทายของกฎหมายทรัพย์ทางปัญญาในปี พ.ศ. 2565 ดังนี้

1. การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีพลิกผัน (Emerging Technologies) ส่งผลต่อสถานะของทรัพย์สินทางปัญญาที่อยู่ในรูปของข้อมูลดิจิทัลทั้งหมด และอาจก่อให้เกิดการกล่าวอ้างสิทธิเหนือข้อมูลดิจิทัลเหล่านั้นในรูปแบบที่แตกต่างกันในคดีความ อันอาจส่งผลต่อ “การเลือก”เขตอำนาจศาลที่แตกต่างกันในการระงับข้อพิพาท

2. ข้อขัดแย้งของเจ้าของข้อมูลที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญากับเจ้าของข้อมูลที่เป็นสิทธิส่วนบุคคลจะเกิดขึ้นมากขึ้นเรื่อย ๆ และนำไปสู่การแก้ไขข้อขัดแย้งในการแลกเปลี่ยนข้อมูล (data sharing) โดยองค์กรกลางที่เป็นอิสระในการกำกับดูแลเพื่อแก้ปัญหาการกำกับดูแลที่ทับซ้อนกัน และปลดล็อกปัญหาในการรักษาความลับทางการค้าหรือการนำเอาข้อมูลไปใช้

3. การปรับใช้หลักสูญสิ้นไปซึ่งสิทธิ (Exhaustion of Right) จะมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นภายใต้เทคโนโลยีบล็อกเชน หรือเทคโนโลยีบล็อกเชนอาจเป็นมิติใหม่ที่เปลี่ยนให้ข้อมูลดิจิทัลภายใต้ระบบบล็อกเชนถูกยกระดับเป็นทรัพย์สินตามกฎหมายในรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่ทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อรองรับความเติบโตของตลาดเสมือนจริง

4. เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จะก่อให้เกิดข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ในรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะในเรื่องของการขุดข้อมูล (data mining) และ computational data analysis exception เพื่อแก้ปัญหาในเรื่องของการแชร์ข้อมูล และปลดล็อกการบริหารจัดการด้วยข้อมูล (Data Driving Business)

5. กรมทรัพย์สินทางปัญญาของหลายประเทศจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริหารจัดการโดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เต็มรูปแบบ ภายใต้นโยบาย 3G (Gap – Governance - Guillotine – อุดช่องว่างของกฎหมาย – กำกับดูแลเท่าที่จำเป็น - ยกเลิกเพิกถอนกฎหมายที่ไม่เป็นประโยชน์) และ outsource การตรวจสอบเทคโนโลยีบางประเภทภายใต้ทฤษฎีแห่งความเปลี่ยนแปลง (The Theories of Change)

เนื่องด้วยความก้าวหน้าแห่งนวัตกรรมและเทคโนโลยี ส่งผลให้วงการกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจสังคมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึงทำให้เกิดประเด็นปัญหาและความท้าทายใหม่ ๆ ที่น่าจับตามองว่าประเทศไทยจะมีนโยบายรับมือกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวต่อไปอย่างไร