รู้จักกับ “Burnout Syndrome”

                       เข้าสู่ปีใหม่ทั้งทีแต่โควิด-19 ก็ยังไม่หายไปจากเราและไม่มีท่าทีว่าจะสิ้นสุดลงง่าย ๆ จากการพบการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสสู่เชื้อโอมิครอน ส่งผลให้หลากหลายองค์กรกลับมาใช้รูปแบบการทำงาน Work From Home อีกครั้ง เพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจ และนี่เองเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้หลาย ๆ ท่านอาจเจอกับ “ภาวะหมดไฟในการทำงาน” หรือ “Burnout Syndrome” ซึ่งเป็นความเครียดทางด้านจิตใจส่งผลให้รู้สึกเหนื่อยล้าและหมดไฟอย่างไม่มีสาเหตุ

ภาวะหมดไฟในการทำงาน หรือ Burnout Syndrome คืออะไร

                       ภาวะทางจิตใจที่เกิดจากความเครียดสะสมหรือความเหนื่อยล้าจากการทำงาน เมื่อเปลี่ยนบ้านเป็นที่ทำงานแล้วทำให้ปรับตารางทำงานได้ค่อนข้างยาก ทำงานไม่เสร็จตามเป้าหมาย รวมถึงอุปกรณ์การทำงานที่ยังไม่พร้อม สิ่งเหล่านี้สามารถทำให้เกิดภาวะเครียดสะสมจนภาวะหมดไฟในการทำงานและในระยะยาวอาจนำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้าได้ อีกทั้งในปี 2562 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้ “ภาวะหมดไฟในการทำงาน” เป็นสภาวะที่ต้องได้รับการรักษาในทางการแพทย์โดยระบุในคู่มือวินิจฉัยและ จัดประเภทของโรคระหว่างประเทศ (The International Classification of Diseases) อีกด้วย

สัญญาณของภาวะหมดไฟในการทำงาน หรือ Burnout Syndrome

     • รู้สึกสูญเสียพลังงาน หรือมีภาวะอ่อนเพลีย
     • มีความรู้สึกต่อต้านและมองงานของตนเองในทางลบ ขาดแรงจูงใจในการทำงาน
     • ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง

วิธีเติมไฟให้ตัวเอง

     • พยายามปรับสมดุลของการใช้ชีวิตทั้งด้านการทำงานและชีวิตส่วนตัว (Work-Life Balance)
     • พักผ่อนให้เพียงพอและดูแลร่างกายให้ดี
     • คลายความเครียดด้วยการทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น ดูภาพยนตร์ ฟังเพลง ออกกำลังกาย ท่องเที่ยว
     • ลดการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์สื่อสาร และจำกัดเวลาการใช้โซเชียลมีเดีย
     • ขอความช่วยเหลือ ปรึกษาหารือคนที่อาจช่วยได้ รวมถึงพูดคุยระบายความเครียด

ปัญหาสุขภาพจิตอย่าง “ภาวะหมดไฟในการทำงาน” หรือ “Burnout Syndrome” ไม่ใช่เรื่องที่เราจะละเลยและต้องอดทนอีกต่อไป หมั่นตรวจสอบภาวะจิตใจของตนเองเพื่อให้รู้เท่าทันและ สามารถจัดการความเครียดได้อย่างถูกวิธี เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและปลุกไฟในการทำงานอีกครั้ง ด้วยความห่วงใยจากประชาคมศิษย์เก่าคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์