สิทธิสตรีในประเทศไทย

1

โดย อาจารย์สุประวีณ์ อาสนศักดิ์

อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

      เนื่องในวันที่ 8 มีนาคม ที่ผ่านมานี้เป็นวันสตรีสากล (International Women's Day) พบกับ ‘อาจารย์สุประวีณ์ อาสนศักดิ์’ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พาผู้อ่านไปสำรวจ “สิทธิสตรี” ซึ่งแฝงตัวอยู่ในตัวบทกฎหมายต่าง ๆ รวมถึงหยิบยกประเด็นการให้ความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพต่อสตรีในกฎหมายรัฐธรรมนูญไทย อันถือเป็นหลักประกันและกลไกสำคัญในการรับรองและปกป้องสตรีจากการถูกปฏิบัติไม่เท่าเทียม เพื่อให้ผู้อ่านได้ตระหนักถึงคุณค่าและบทบาทของสตรีในสังคมไทยมากขึ้น
      ผู้อ่านหลายท่านอาจจะคุ้นหูกับคำว่า “สิทธิสตรี” กันมาบ้างโดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านที่มาที่เราได้เห็นทั้งการเรียกร้องสิทธิสตรีของกลุ่มต่าง ๆ ในสื่อออนไลน์และการเรียกร้องสิทธิในยุติการตั้งครรภ์ของผู้หญิงในศาลรัฐธรรมนูญไทย แต่ถึงแม้จะคุ้นเคยกันดีแต่คำว่าสิทธิสตรีกลับไม่ปรากฎอยู่ในรัฐธรรมนูญไทย รัฐธรรมนูญต่างประเทศ หรือกฎหมายระหว่างประเทศฉบับใดเลย แม้กระทั่งในอนุสัญญาระหว่างประเทศฉบับสำคัญอย่างอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) ที่มีจุดประสงค์ใน การส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้หญิงโดยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีก็มิได้ให้คำนิยามถึงคำว่าสิทธิสตรีไว้แต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้จึงอาจนำไปสู่ข้อสงสัยที่ว่ากฎหมายมีกลไกในการปกป้องสิทธิสตรีหรือไม่อย่างไร

กฎหมายมีกลไกในการปกป้องสิทธิสตรีได้อย่างไร ?

      แม้จะคำว่าสิทธิสตรีจะไม่ได้ถูกนิยามไว้ในตัวบทกฎหมาย แต่ก็ไม่ได้แปลว่ากฎหมายขาดกลไกในการปกป้องสิทธิดังกล่าว สิทธิสตรีได้รับการปกป้องเช่นกันเดียวกับสิทธิและเสรีภาพด้านอื่น ๆ ของประชาชนโดยรัฐธรรมนูญผ่านกลไกหลักนิติธรรม (Rule of Law) และกลไกความเท่าเทียม (Equality) โดยกลไกทั้งสองนี้เป็นกลไกพื้นฐานสากลที่มีอยู่รัฐธรรมนูญของประเทศแทบทุกประเทศและ กฎหมายระหว่างประเทศในชื่อเรียกที่อาจจะแตกต่างกันออกไป
กลไกหลักนิติธรรม       เป็นกลไกที่สะท้อนอยู่ในมาตรา 26 แห่งรัฐธรรมนูญไทยฉบับปัจจุบัน ซึ่งเป็นหลักการที่ตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐไม่ให้ไปกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ ไม่ให้ขัดต่อหลักนิติธรรม และต้องไม่กระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ดังนั้นแล้วเมื่อใดก็ตามที่การใช้อำนาจของรัฐกระทบกับสิทธิและเสรีภาพของผู้หญิงในสังคมโดยเกินสมควรแก่เหตุ ผู้หญิงในฐานะบุคคลภายใต้การปกครองของรัฐสามารถเรียกร้องให้ตรวจสอบการใช้อำนาจนั้นได้ผ่านกลไกหลักนิติธรรม ตามมาตรา 26 ตัวอย่างเช่น กฎหมายลงโทษหญิงที่ทำแท้ง อาจเป็นการใช้อำนาจของรัฐที่เข้าไปกระทบกับสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของหญิงเกินสมควรแก่เหตุ
กลไกความเท่าเทียม       เป็นกลไกที่สะท้อนอยู่ในมาตรา 27 แห่งรัฐธรรมนูญไทยฉบับปัจจุบัน กลไกนี้ห้ามมิให้การใช้อำนาจและการใช้กฎหมายของรัฐนำไปสู่การเลือกปฏิบัติระหว่างกลุ่มบุคคลกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม กล่าวคือ รัฐห้ามนำคุณลักษณะเฉพาะของบุคคลในแต่กลุ่มขึ้นมาใช้เป็นข้ออ้างเพื่อเลือกปฏิบัติต่อบุคคลนั้น ๆ ซึ่ง “เพศ” เป็นหนึ่งในคุณลักษณะที่รัฐธรรมนูญห้ามมิให้รัฐนำขึ้นเป็นข้ออ้าง ตัวอย่างเช่น กฎหมายที่ระบุให้เพศชายเป็นเพศที่ข่มขืนกระทำชำเราเพศหญิงได้เท่านั้น อาจเข้ากรณีที่กฎหมายใช้เพศเป็นข้ออ้างในการเลือกปฏิบัติต่อเพศชายและลงโทษเพียงเพศชาย
      จากที่กล่าวมา กลไกทั้งสองมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน กลไกหลักนิติธรรมมักใช้ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐหรือกฎหมายที่มีเนื้อหากระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยตรง แต่กลไกความเท่าเทียมใช้ในกรณีที่เนื้อหาของกฎหมายหรือการใช้อำนาจรัฐไม่ได้กระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ผลของกฎหมายทำให้คนบางกลุ่มได้รับการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกับคนกลุ่มอื่น ๆ โดยกฎหมายบางฉบับอาจขัดรัฐธรรมนูญตามผลของกลไกทั้งสอง หรือกฎหมายบางฉบับอาจขัดรัฐธรรมนูญตามผลของกลไกใดกลไกหนึ่งก็ได้เช่นเดียวกัน
      ความแตกต่างอีกประการของกลไกทั้งสองคือ ฐานะของผู้เรียกร้อง โดยในการเรียกร้องผ่านกลไกหลักนิติธรรม ผู้หญิงเรียกร้องสิทธิสตรีของตนในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่สิทธิและเสรีถูกจำกัด จากการใช้อำนาจรัฐ ส่วนการเรียกร้องผ่านกลไกความเท่าเทียมผู้หญิงเรียกร้องสิทธิของตนในฐานะตัวแทนของกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากผลของกฎหมาย โดยกลุ่มคนอื่น ๆ ในสังคมก็มีสิทธิที่จะเรียกร้อง การตรวจสอบการใช้อำนาจโดยเลือกปฏิบัติได้ผ่านกลไกเดียวกัน
      จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า การเรียกร้องสิทธิสตรีในทางกฎหมายไม่ได้เป็นการให้สิทธิพิเศษแก่สตรีเหนือว่าบุคคลหรือกลุ่มบุคคลอื่นแต่อย่างใด แต่การเรียกร้องนั้นเป็นไปตามกลไกทั่วไปของรัฐธรรมนูญที่ไม่ว่าบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดก็สามารถใช้กลไกเหล่านี้เพื่อรักษาสิทธิและเสรีภาพของตนได้ ดังนั้น การเรียกร้องสิทธิสตรีจึงไม่ใช่การเรียกร้องให้กฎหมายระบุเนื้อหาสาระของสิทธิสตรีไว้เป็นการเฉพาะ แต่เป็นการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนและสิทธิในฐานะประชาชนนั่นเอง

      1หมายเหตุ เนื้อหาบางส่วนปรับปรุงมาจากบทความ SDG Insights | กลไกกฎหมายไปสู่สมรสเท่าเทียม: ถอดบทเรียนจากคำวินิจฉัยรัฐธรรมนูญต่างประเทศ โดย สุประวีณ์ อาสนศักดิ์ https://www.sdgmove.com/2022/01/08/sdg-insights-constitutional-court-ruling-legal-mechanisms-to-recognize-marriage-equality/