11 พฤษภาคม : วันปรีดี พนมยงค์

11 พฤษภาคม 2565 เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของชาวธรรมศาสตร์ นั่นคือ วันปรีดี พนมยงค์วันของผู้ก่อตั้งและผู้ประศาสน์การคนแรกและคนเดียวของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ทั้งยังเป็น "รัฐบุรุษอาวุโส" ที่ได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญของโลกอีกด้วย ในโอกาสนี้ ทีมงานศิษย์เก่าสัมพันธ์ฯ ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมรำลึกถึงคุณูปการอันทรงคุณค่าและเชิดชูเกียรติของอาจารย์ปรีดีผ่านการเรียนรู้การสร้างความเปลี่ยนแปลงและการทุ่มเททำงานให้บ้านเมืองของอาจารย์ปรีดี

อาจารย์ปรีดีได้ทุ่มเทกายใจทำงานรับใช้สังคมและประเทศไทยมากมาย ทั้งในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหน่วยราชการอื่น ๆ ในช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองอาจารย์ปรีดีได้ทำงานเป็นผู้พิพากษาประจำกระทรวงยุติธรรมและเป็นอาจารย์สอนกฎหมายในโรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม โดยได้จัดพิมพ์หนังสือ นิติสาส์นหนังสือคำอธิบายกฎหมายและรวมบทความกฎหมายจากผู้สอนท่านอื่น ๆ ในโรงเรียนกฎหมาย เพื่อเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการแก่คนทั่วไปมากยิ่งขึ้น และในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 อาจารย์ปรีดีก็เป็นผู้นำฝ่ายพลเรือนคณะราษฎร ทำการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตย ทั้งประกาศเจตนารมณ์ของระบอบใหม่ผ่าน ประกาศคณะราษฎร เสนอหลัก 6 ประการของคณะราษฎร คือ เอกราช ความปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ และการศึกษา ซึ่งถือเป็นปฏิญญาสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างเป็นทางการครั้งแรก

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง อาจารย์ปรีดียังสร้างผลงานและคุณูปการอีกหลายอย่างให้แก่ประเทศในหลากหลายตำแหน่งหน้าที่ โดยขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้พัฒนาการปกครองท้องถิ่นโดยตั้งเทศบาลทั่วราชอาณาจักรสยามตาม พ.ร.บ.เทศบาล ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศได้แก้ไขสนธิสัญญาต่าง ๆ เพื่อยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการคลังได้ปรับปรุงภาษีอากรและประกาศบังคับใช้ประมวลกฎหมายรัษฎากร อีกทั้งยังเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลอีกด้วย โดยในขณะที่อาจารย์ปรีดีได้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ เหล่านี้ท่านก็ได้ดำรงตำแหน่ง ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองได้จัดให้การศึกษาแก่ราษฎรอย่างเต็มความสามารถตามหลัก 6 ประการของคณะราษฎร นอกจากนี้ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านอาจารย์ปรีดียังเป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยที่มีบทบาทสำคัญในการรักษาเอกราชของประเทศไทยไว้ไม่ให้ตกเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม และอาจารย์ปรีดีได้บริหารบ้านเมืองในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงสั้น ๆ ก่อนจะลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อให้เป็นไปตามวิถีทางรัฐธรรมนูญต่อไป

การทุ่มเทกายใจให้แก่ชาติบ้านเมืองของอาจารย์ปรีดีสร้างคุณูปการแก่ประเทศชาติมากมาย ทำให้ประเทศรอดพ้นวิกฤติและทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดียิ่งขึ้น อีกทั้งการทุ่มเทของท่านยังได้สร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนรุ่นหลัง เป็นแบบอย่างของการมี “จิตวิญญาณการทำงานรับใช้สังคม” ที่ชาวธรรมศาสตร์ยึดถือเสมอมา    

 

ที่มา

-        ชีวประวัติย่อ ปรีดี พนมยงค์. 2565 , แหล่งที่มา : https://pridi.or.th/th/about/pridi/biography

-        ปฏิทินชีวิต ปรีดี พนมยงค์, แหล่งที่มา :  https://pridi.or.th/th/about/pridi/timeline

-        121 ปี ชาติกาล ‘ปรีดี พนมยงค์’ กับบทบาทการเป็นนายกรัฐมนตรี “คนดีเมืองไทยไม่ต้องการ” , แหล่งที่มา : https://thematter.co/brief/142620/142620

-        ปรีดี พนมยงค์ กับธุรกิจโรงพิมพ์และหนังสือ “นิติสาส์น” สร้างแสงสว่างทางปัญญา, แหล่งที่มา :  https://thepeople.co/pridi-banomyong-and-his-printing-house/