สิทธิมนุษยชนคืออะไร ?

 

โดย อาจารย์ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล

อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศ
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

 

     สิทธิมนุษยชนนั้นเป็นหลักสากล เนื่องจากยึดโยงอยู่กับความเป็น “มนุษย์” ไม่ใช่เชื้อชาติเผ่าพันธุ์หรือวัฒนธรรม มนุษย์ที่โหยหาเสรีภาพและใช้เสรีภาพนั้นเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมที่พัฒนามนุษย์ด้วยกันเอง มนุษย์ที่เห็นอกเห็นใจกันจนไม่อาจทนเห็นเพื่อนมนุษย์ทุกข์ทนอยู่ในสภาพที่ถูกพรากสิทธิไปอย่างอยุติธรรมได้ การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนมีรากฐานยาวนานโดยสืบย้อนไปได้ถึงแนวคิดสิทธิตามธรรมชาติในสมัยโรมัน แนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนเคยเป็นเครื่องมือของพลเมืองในการต่อรองกับผู้ปกครอง เป็นหมุดหมายของการปลดแอกอาณานิคม และกลายเป็นจุดมุ่งหมายร่วมกันของสหประชาชาติตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง

     จุดมุ่งหมายร่วมกันนี้เกิดจากการเรียนรู้ประสบการณ์ความรุนแรงในอดีต และจากความหวังว่าสิทธิเสรีภาพจะกระตุ้นให้เกิดพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคม แม้รัฐยังคงดำรงอธิปไตยสูงสุดและไม่อาจแทรกแซงกิจการภายในของรัฐอื่น ทว่า รัฐไม่อาจจะกระทำตามอำเภอใจกับพลเมืองได้เนื่องจากถูกผูกพันโดยพันธกรณีระหว่างประเทศว่าจะต้องเคารพและคุ้มครองสิทธิของประชาชน “รัฐ” ในที่นี้หมายถึงองคาพยพใด ๆ ที่ใช้อำนาจรัฐ ทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการ ประชาคมโลกไม่อาจนิ่งดูดายต่อการกระทำโหดร้ายต่อเพื่อนมนุษย์ของรัฐบาล แม้ว่ารัฐบาลนั้นจะมีที่มาโดยชอบธรรมก็ตาม สหประชาชาติจึงต้องมีกลไกการตรวจสอบการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน นอกจากเพื่อให้รัฐต่าง ๆ ถูกตรวจสอบโดยรัฐด้วยกันเองและโดยภาคประชาสังคมแล้ว ยังมีไว้เพื่อทำให้รัฐได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนทางปฏิบัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในรูปแบบต่าง ๆ (best practices) ด้วย

     อาจเป็นเรื่องบังเอิญที่วันสิทธิมนุษยชนสากลตรงกับวันรัฐธรรมนูญของประเทศไทย แต่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ไทยเป็นสมาชิกเริ่มแรกผู้เห็นชอบกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติโดยสมัครใจและโดยภาคภูมิใจ และเป็นผู้ผลักดันประเด็นการคุ้มครองสิทธิต่าง ๆ ในเวทีนานาชาติ หลายท่านอาจสงสัยว่า ทำไมเราต้องสนใจเสียงของต่างชาติทั้งที่เราเป็นรัฐอธิปไตยที่มีอิสระและเท่าเทียมกับรัฐอื่น ๆ แต่เพราะความเป็นรัฐอธิปไตยที่มีศักดิ์ศรีนี้เองที่ทำให้เราต้องปฏิบัติตามพันธกรณีของสนธิสัญญา สิทธิมนุษยชน เพื่อส่งสัญญาณบอกประชาคมโลกว่า เรามีศักยภาพเพียงพอที่จะปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาคมโลก ทั้งในการเคารพ (respect) ปกป้อง (protect) และเติมเต็ม (fulfill) สิทธิเสรีภาพของทุกคนอย่างเสมอภาค

     สิทธิเสรีภาพที่แท้จริงนั้นไม่ได้มาจากการเฝ้ารอผู้มีอำนาจมอบให้ แต่มาจากการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงแนวคิด วัฒนธรรม และทางปฏิบัติ จึงจะสามารถสร้างการตระหนักรู้อย่างยั่งยืนของสังคม ทุกวันนี้ เยาวชนคือกำลังสำคัญในการรณรงค์เรื่องสิทธิทั่วโลก ตั้งแต่ขบวนการ Black Lives Matter การรณรงค์เรื่อง Climate Change การต่อต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนของฮ่องกง มาจนถึงขบวนการเยาวชนของประเทศไทยที่พยายามใช้เสรีภาพอย่างสร้างสรรค์เพื่อตั้งคำถามต่อความคงเส้นคงวาของระดับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และความเท่าเทียมในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพนั้นในประเด็นอันหลากหลาย การตั้งคำถามต่อความรับผิดชอบของผู้มีอำนาจเหล่านี้นี่เองที่จะทำให้หลักการนิติรัฐและนิติธรรมเกิดขึ้นได้จริง

     สิทธิมนุษยชนไม่ใช่การใช้สิทธิอย่างเกินเลยเพื่อเอาแต่ประโยชน์ส่วนตัว กฎหมายเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อสร้างสมดุลในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลกับการแสวงหาประโยชน์สาธารณะ หรือเพื่อจัดการกรณีที่สิทธิเสรีภาพของบุคคลขัดกัน ดังนั้น แนวคิดนี้จึงแฝงอยู่ในทุกอณูของกฎหมาย ไม่แปลกที่เราจะเห็นนักกฎหมายทั่วโลกเป็นแนวหน้าในการปกป้องสิทธิมนุษยชน

     สังคมมนุษย์พัฒนาได้ด้วยการตั้งคำถามต่อสภาพที่เป็นอยู่ จึงไม่แปลกที่การพูดคุยเรื่องสิทธิมนุษยชนจะนำมาซึ่งการถกเถียง การโต้แย้ง การเปิดเผยให้เห็นความไม่ลงรอยต่าง ๆ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะต้องนำไปสู่การทำลาย หรือการปฏิเสธคุณค่าดั้งเดิมของสังคม บางคนอ้างว่าสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องตะวันตกไม่เข้ากับสังคมไทย แต่หากเราพิจารณาอย่างถ่องแท้ เราจะเข้าใจว่าคุณค่าอันงดงามของวิถีไทยนั้นเชื่อมโยงกับแนวคิดสิทธิมนุษยชนได้ โดยเฉพาะการโอบรับความแตกต่างของคนหลายเชื้อชาติที่เข้ามารวมกันอยู่บนด้ามขวานทอง รวมถึงแนวคิดเรื่องความซื่อสัตย์ ความยุติธรรม และความเอาใจเขามาใส่ใจเรา

     ศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงขอเชิญชวนให้ท่านลอง “ตั้งคำถาม” และ ร่วมฟัง “การตั้งคำถาม” ในประเด็นสิทธิมนุษยชนของผู้คนรอบตัวท่าน ทั้งสามารถเข้าร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนมากมายที่จัดโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอเชิญศิษย์เก่าผู้สนใจติดตามได้ทางเว็บไซต์ http://www.law.tu.ac.th หรือ Facebook : คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

    Thammasat Law Alumni Team

    Faculty of Law, Thammasat University

    2 Prachan Road, Phra Borom Maha Ratchawang, Phra Nakhon, Bangkok 10220

    Tel: + 66 2222 9598 | Email: lawalumni@tu.ac.th

    Website: www.law.tu.ac.th I Instagram: lawalumni

 

    Website : http://www.law.tu.ac.th/

    Facebook : https://www.facebook.com/Thammasatlaw/

    Instagram : http://www.instagram.com/lawalumni

    Youtube : https://www.youtube.com/watch?v=9oW_n3hytf4&feature=youtu.be